วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ภูมิปัญญาไทยกับการพัฒนาการศึกษา


ภูมิปัญญาไทยกับการพัฒนาการศึกษา
นางสายสมร  จันทร์หอม
นางจาฏุพัทจ์  ศรีสุข
นางสมจิตต์  มีสัตย์ธรรม
นางสาวชลากร  เจริญนาม

ในปัจจุบันกระแสโลกาภิวัตน์ โลกตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวัฒนธรรมทำให้ภูมิปัญญาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทย รวมกันเป็นวัฒนธรรมไทยถูกละเลย ในขณะนี้รัฐบาลมีความพยายามจะนำภูมิปัญญาไทยมาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการอนุรักษ์สืบสานความเป็นเอกลักษณ์ของไทยสืบทอดสู่ลูกหลานในปัจจุบัน
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(๒๕๕๑)ได้ทบทวนบทเรียนของการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาได้ข้อสรุปว่าการพัฒนาประเทศไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมไทยเท่าที่ควรทำให้เกิดปัญหาและวิกฤตต่างๆ การพัฒนาคนหรือการศึกษาโดยรวมเป็นไปตามชาติตะวันตกดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาคนหรือการศึกษาได้รับการแก้ไข ให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมไทย การนำเอาภูมิปัญญาที่สั่งสมไว้ในบ้านเมืองมาใช้เป็นพื้นฐานสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนาคนหรือการจัดการศึกษาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องนำภูมิปัญญาไทยมาใช้ในการพัฒนาการศึกษาเพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาไทยกับการศึกษาตลอดชีวิต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. ๒๕๕๑) มีนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ซึ่งได้มีการกำหนดความหมายและลักษณะของภูมิปัญญาไทยไว้ ดังนี้
ภูมิปัญญาไทย หมายถึง องค์ความรู้ ความสามารถและทักษะของคนไทยอันเกิดจาก การสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนาและถ่ายทอด สืบต่อกันมา เพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัย
                แบ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นออกเป็น ๔  กลุ่ม คือ
คติ ความคิด ความเชื่อ และหลักการ
ศิลปะ วัฒนาธรรม และขนบธรรมเนียม
การประกอบอาชีพในแต่ละท้องถิ่นที่ได้
แนวคิดหลักปฏิบัติและเทคโนโลยี
ลักษณะองค์รวมของภูมิปัญญามีความเด่นชัดในหลายด้าน ดังนี้
๑. ด้านเกษตรกรรม ได้แก่ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิค ด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถ พึ่งพาตนเอง ในสภาวการณ์ต่าง ๆได้ เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การแก้ ปัญหาการเกษตรด้าน การตลาดการแก้ปัญหาด้านการผลิตและการรู้จักปรับใช้เทคโนโลยี ที่เหมาะสมกับการเกษตร เป็นต้น
๒. ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ได้แก่ การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลผลิตเพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม อันเป็นกระบวนการให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ ตลอดทั้งการผลิตและการจำหน่าย ผลผลิตทางหัตถกรรม เช่น การรวมกลุ่มของกลุ่มโรงงานยางพารา กลุ่มโรงสี กลุ่มหัตถกรรม เป็นต้น
๓. ด้านการแพทย์แผนไทย ได้แก่ ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชนโดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้ เช่นยาจากสมุนไพร อันมีอยู่หลากหลาย การนวดแผนโบราณ การดูแลและรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน เป็นต้น
๔. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความสามารถ เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งการอนุรักษ์พัฒนา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยและยั่งยืน เช่น การบวชป่า การสืบชะตาแม่น้ำ การทำแนวปะการังเทียม การอนุรักษ์ป่าชายเลน การจัดการป่าต้นน้ำและป่าชุมชน เป็นต้น
๕. ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ได้แก่ ความสามารถในด้านการสะสมและบริหารกองทุนและสวัสดิการ ชุมชน ความมั่นคงให้แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในกลุ่ม เช่น การจัดการกองทุนของชุมชนในรูปของสหกรณ์ออมทรัพย์รวมถึงความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคนให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของชุมชน และการจัดระบบสวัสดิการบริการชุมชน
๖. ด้านศิลปกรรม ได้แก่ ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปะสาขาต่าง ๆ เช่น จิตรกรรมประติมากรรมนาฏศิลป์ ดนตรี ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ การละเล่นพื้นบ้านและนันทนาการ
๗. ด้านภาษาและวรรณกรรม ได้แก่ ความสามารถในการอนุรักษ์และสร้างสรรค์ผลงานด้านภาษา คือ ภาษาถิ่น ภาษาไทยในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงด้านวรรณกรรมท้องถิ่นและการจัดทำสารานุกรมภาษาถิ่น การปริวรรตหนังสือโบราณ การฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาถิ่นของท้องถิ่นต่างๆ
๘. ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี ได้แก่ ความสามารถประยุกต์และปรับใช้หลักธรรมคำสอน ทางศาสนาปรัชญาความเชื่อและประเพณีที่มีคุณค่าให้เหมาะสมต่อบริบททางเศรษฐกิจสังคม เช่น การถ่ายทอดวรรณกรรมคำสอน การบวชป่า การประยุกต์ประเพณีบุญประทายข้าว
            ๙. ด้านโภชนาการ ได้แก่ ความสามารถในการเลือกสรรประดิษฐ์และปรุงแต่งอาหารและยาได้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายในสภาวการณ์ต่างๆ ตลอดจนผลิตเป็นสินค้าและบริการส่งออกที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากรวมถึงการขยายคุณค่าเพิ่มของทรัพยากร
๑๐.ด้านองค์กรชุมชน ได้แก่ ร้านค้าชุมชนศูนย์สาธิตการตลาดกลุ่มออมทรัพย์องค์กรด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า
ภูมิปัญญาไทยกับการศึกษาตลอดชีวิต
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กล่าวถึงการส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษาอยู่หลายมาตรา ได้แก่
มาตรา ๗ “ ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิหน้าที่เสรีภาพความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทยรู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติรวมทั้งส่งเสริมศาสนาศิลปะวัฒนะธรรมของชาติ การกีฬา
ภูมิปัญญาท้องถิ่นภูมิปัญญาไทยและความรู้อันเป็นสากลตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพรู้จักพึ่งตนเองมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ”
มาตรา  ๒๓  “การจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา ”
มาตรา  ๒๗ “ ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางของการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทยความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อให้สถานศึกษามีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่นคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อความเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน  สังคม และประเทศชาติ
มาตรา  ๕๗  “ ให้หน่วยงานทางการศึกษาระดมทรัพยากรบุคคลในชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาโดยนำประสบการณ์ความรอบรู้ ความชำนาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบุคคลดังกล่าวมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาและยกย่องเชิดชูผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ”  
มาตราเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าภูมิปัญญาเป็นรากฐานและเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาคนและการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยสามารถกำหนดนโยบายและแนวทางการนำภูมิปัญญาเข้าสู่ระบบการศึกษาตลอดชีวิตทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย
 ๑. ภูมิปัญญาไทยกับการศึกษาในระบบ
หน่วยงานภาครัฐกำหนดให้โรงเรียนมีหลักสูตร การเรียนการสอน ตำรา หนังสือประกอบ เกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาของท้องถิ่น รวมถึงให้มีการปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนเห็นความสำคัญและเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทย
๒. ภูมิปัญญาไทยกับการศึกษานอกระบบ
หน่วยงานสถาบันหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการศึกษานอกโรงเรียนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ เกี่ยวกับเรื่องภูมิปัญญาไทยแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปและจัดให้มีหลักสูตรกิจกรรมเสริมหลักสูตรเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทยเพื่อปลูกฝังเจตคติที่ดีให้เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาไทย
๓. ภูมิปัญญาไทยกับการศึกษาตามอัธยาศัย
ชุมชนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นส่งเสริมให้มีแหล่งการเรียนรู้หรือศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยของผู้ทรงซึ่งองค์ความรู้ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินช่างฝีมือ ในท้องถิ่นรวมทั้งให้การสนับสนุนในด้านวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ใช้ในการประกอบกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้
การส่งเสริมภูมิปัญญาไทยเข้าสู่การจัดการศึกษาทุกประเภททุกรูปแบบนี้จะเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนองค์กรท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อให้ประชาชน องค์กรท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มีความยั่งยืนและต่อเนื่อง
องค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย
                ที่มา คุณค่า และการอนุรักษ์ ภูมิปัญญา หรือWisdom เป็นสิ่งที่ถูกสังคมไทยซ่อนเร้นมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่สังคมไทยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวคิดของตะวันตก และได้รับการกระตุ้นให้กลับคืนสู้สังคมไทยในบทบาทของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยในหลากหลายรูปแบบและหลากหลายมิติทางสังคม ภูมิปัญญาไทยหมายถึงองค์ความรู้ความสามารถ และทักษะของคนไทยที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณที่ผ่านกระบวนการเลือกสรร เรียนรู้ ปรุงแต่ง และถ่ายทอดสืบต่อกันมาเพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตของคนไทยให้สมดุลกับสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับยุคสมัยและจำแนกสาขาออกเป็น ๑๐สาขาเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและหัตถกรรม การแพทย์แผนไทย การจัดการทรัพยากรธรรมชาติกองทุนและธุรกิจชุมชน ศิลปกรรมภาษาและวรรณกรรม ปรัชญา ศาสนา และประเพณี โภชนาการองค์กรชุมชน
สังคมไทยจำแนกภูมิปัญญาได้ตามลำดับของแหล่งเกิดภูมิปัญญาได้ดังนี้
๑.ภูมิปัญญาใดเกิดจากตัวบุคคล และมีการยอมรับและนำไปใช้อย่างแพร่หลายในระดับท้องถิ่น      ก็สามารถที่จะเรียกได้ว่าเป็นภูมปัญญาท้องถิ่น
๒.ภูมิปัญญาใดที่เกิดจากวัดหรือชุมชนและเป็นที่แพร่หลายไปในต่างชุมชนจนเป็นที่ยอมรับใน     วงกว้าง เช่นการเกิดประเพณีต่างๆสามารถที่จะเรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของราษฎร
๓.ภูมิปัญญาใดที่มีจุดกำเนิดจากชนชั้นนำ และแพร่หลายไปจากส่วนกลางหรือศูนย์อำนาจในการปกครอง จนกลายเป็นที่ยอมรับจากชนชั้นถูกปกครอง อาทิ ศิลปะการร่ายรำ ศิลปะการร้อง สถาปัตยกรรมของศาสนาสถานหรือที่พักอาศัย ศิลปะการทำอาหาร ภูมิปัญญาลักษณะนี้เป็นภูมิปัญญาหลวง
พื้นฐานความเชื่อของการก่อกำเนิดภูมิปัญญาไทย
พื้นฐานความเชื่อที่เป็นรากฐานของภูมิปัญญาไทย ส่วนใหญ่จากความเชื่อเรื่อง “จักรวาล” ที่มีข้อความอธิบายไว้ในหนังสือ ไตรภูมิพระร่วงซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลอไท พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๕ แห่งอาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ.๑๙๐๐-๑๙๑๙) และได้มีการนำแนวคิดดังกล่าวไปพัฒนาด้วยการผสมผสานกับแนวคิดเชิงพุทธเพื่อใช้กับศิลปกรรม หัตถกรรม และสถาปัตยกรรม ตลอดจนพิธีกรรมและประเพณีต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนชาวไทยในภูมิภาคนี้ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสถาปัตยกรรมของวัดและพุทธสถานที่ปรากฏความเชื่อจากการผสมผสานระหว่างแนวคิดจักรวาลกับแนวคิดเชิงพุทธ ประเพณีการบวชนาคที่ปรากฏในพุทธศาสนาหรือแม้แต่การใช้ชีวิตของภูมิปัญญาไทยเกิดจากรูปแบบต่างๆของผลผลิตทางสังคมที่เป็นวัฒนธรรมของชาติและเป็นเครื่องใช้ในการพัฒนาคน พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศที่มีศักยภาพอย่างสูงสุดเพราะเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนรากเหง้าของตนเองและเป็นการบูรณาการความคิดและภูมิปัญญาต่างชาติเข้ามาใช้ในสังคมอย่างกลมกลืนกันมากที่สุด เพื่อประโยชน์ของคนทั้งชาติด้วยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ผลิตซ้ำ และพัฒนา
แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาเศรษฐกิจ: ความคิดรวบยอดของการศึกษา
จุดเริ่มต้นของการกำหนดแนวคิดในการพัฒนา๒ กระแสคือ
กระแสหลัก ได้แก่แนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีรากฐานมาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
กระแสรอง ได้แก่ แนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มีรากฐานมาจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
ทฤษฎีสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ
ทฤษฎีการพัฒนาประเทศไทยแบ่งออกเป็น  กระแสคือ กระแสหลักและกระแสรอง
ทฤษฎีกระแสหลักหลัก ประกอบด้วย
๑.ทฤษฎีของกลุ่มคลาสสิก นักทฤษฎีที่สำคัญๆ ได้แก่ อดัมสมิธ ริคาร์โด มัลธัส และมิลล์ เป็นต้น ซึ่งมีพื้นฐานของแนวคิดคือ
 - เชื่อในกฎธรรมชาติและความมีเหตุผลของมนุษย์
-  กลไกทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ระบบตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และมีรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยที่สุด
  -  ผลผลิตและรายได้ของประเทศจะเกิดจากปัจจัยการผลิตประเภทที่ดินแรงงานและทุน
 -  ผลผลิตที่ได้ในเวลาใดเวลาหนึ่ง จะมีการกระจายปันไปสู่ผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
๒.ทฤษฎีของคาร์ล มารกซ์ จะแตกต่างจากทฤษฎีของกลุ่มคลาสสิกเป็นอันมากโดยมารกซ์มองว่า
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะเกิดจากความขัดแย้งระหว่างชนชั้น
                  การได้มาซึ่งความมั่งคั่งและอำนาจของคนกลุ่มหนึ่งและความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่รอดของอีกฝ่ายหนึ่งจะนำมาซึ่งการต่อสู้ระหว่างชนชั้นของสังคมและทำให้สังคมพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
๓.ทฤษฎีของกลุ่มนีโอคลาสสิก พื้นฐานของแนวคิดคือความจำเริญทางเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ในอัตราที่สูงต่อไปเรื่อยๆ เพราะการปรับปรุงเทคโนโลยีและอัตราค่าตอบแทนต่างๆสูงกว่าที่เป็นจริง
๔.ทฤษฎีของชุมปีเตอร์ มีหลักการว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นเพียงส่วนนึ่งของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
๕.ทฤษฎีของเคนส์  นำเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับจ้างงาน ดอกเบี้ยและการเงิน แนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ทฤษฎีกระแสรอง ได้แก่ ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน และเป็นทฤษฎีที่กรอบคิดค่อนไปทางตรงกันข้ามกับทฤษฎีกระแสหลักโดยมีทฤษฎีที่สำคัญดังนี้
ทฤษฎีใหม่เป็นปรัชญาการพัฒนาประเทศที่ได้รับการยอมรับในวงการนักวิชาการและนักพัฒนาชนบททั้งภาครัฐภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างเข้มข้นและมีการนำมาใช้ในการพัฒนาชนบทอย่างแพร่หลายเป็นแนวคิดที่พัฒนาประเทศที่กำเนิดขึ้นมาเพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตสังคมของประเทศ
ทฤษฎีใหม่มีจุดกำเนิดมาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันซึ่งมีรากฐานมาจากพระราชประสงค์ของพระองค์ในการสร้างความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรในราชอาณาจักรของพระองค์
ภูมิปัญญาไทยกับการพัฒนาสังคมไทยผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ผลการพัฒนาประเทศผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
แนวคิดและลักษณะของแผนที่ได้รับอิทธิพลจากโลกทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในขณะนั้นว่าการพัฒนาคือการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นแผนที่กำหนดวัตถุประสงค์เดี่ยว (Single Objective) คือการเร่งรัดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจการกำหนดแผนจากส่วนกลางและหน่วยงานวางแผนส่วนกลาง(Top Down Planning) เน้นกลยุทธ์การวางแผนด้วยการลงทุนในโครงการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคม
            แนวโน้นการพัฒนาชุมชนและสังคม ในอนาคตการวางแผนกลยุทธ์จะเป็นแกนหลักในการพัฒนาชุมชนและจะสำเร็จลงได้จะต้องอาศัยความเข้มแข็งของวัฒนธรรมในชุมชนที่มีอยู่อย่างหลากหลายให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยการทำงานมีการกำหนดผลผลิตและผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ชัดเจนและลงมือปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็งเต็มศักยภาพเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาให้กับองค์กร การทำงานต้องเป็นไปโดยอาศัยหลักการการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในรูปลักษณ์เครือค่ายการพัฒนามีการสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธาบนพื้นฐานของการพึ่งตนเองและกระบานการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลไกโดยอาศัยกระบวนการวางแผนกลยุทธ์เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน    
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการนำไปใช้โดยภูมิปัญญาชาวบ้าน
การพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยจะนำเสนอเป็น ๒  ส่วนได้แก่ ส่วนที่ ๑  แนวคิดในการแก้ไขปัญหา ส่วนที่ ๒การนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาประเทศ
ส่วนแรก แนวคิดในการแก้ไขปัญหา
ความสำคัญของการพออยู่พอกินและมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกินที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเองได้นั้นประเทศต้องพึ่งพาพละกำลังของตนเองมากกว่าที่ยืมจมูกคนอื่นหายใจทำให้แนวคิดในการพัฒนาประเทศในอนาคตจึงเป็นแนวคิดของการพึ่งตนเองมากที่สุดการพึ่งพาตนเองเป็นไปเพื่อการตอบสนองการพัฒนาเกษตรกรและอุตสาหกรรมอย่างสมดุลกัน
            ลักษณะเด่นของการพึ่งพาตนเอง
๑.      สามารถกำหนดเป้าหมายและการตัดสินใจด้วยตนเองได้
๒.    ดำรงชีพได้ด้วยความสามารถของตนเอง
๓.     สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ได้มีความปรารถนาที่จะพึ่งพาตนเอง
ส่วนที่ ๒  การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการนำไปใช้แนวคิดและแนวทาง
                การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นปรัชญาหลักของการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๐  กับการนำไปใช้โดยภูมิปัญญาชาวบ้านโดยขออัญเชิญแนวคิดพระราชทานมาประดิษฐานไว้เป็นปฐมดังนี้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ  โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน
                ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาสังคมของไทยบนพื้นฐานของการนำภูมิปัญญาไทยไปใช้ร่วมกันรากฐานทางศาสนาที่ยังฝังลึกในสังคมไทย ให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยในยุคโลกาภิวัตน์ให้สามารถที่จะดำรงคุณลักษณะของคนไทยที่ว่า มีความเป็นสากลบนพื้นฐานของความเป็นไทย ที่จะได้ไม่ต้องวิ่งไล่ไขว่คว้าหาเงาของตนเหมือนคนไทยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในวิธีคิดและวิธีชีวิตของตนเองแล้ว เป็นที่เชื่อได้ว่าการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมจะส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจ จิตใจ และสังคมของคนในชาติทั้งมวลด้วยเช่นกัน
ประวัติศาสตร์การศึกษาของประเทศไทย
ประวัติศาสตร์ทางการศึกษาของไทย โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นการนับช่วงเวลาในการจัดการศึกษาสมัยใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยอาศัยฐานคิดจากการศึกษาในดุษฎีนิพนธ์ของภานุวัฒน์  ภักดีวงศ์มาสรุปความดังนั้นคำบางคำที่นำมากล่าวอ้างจึงเป็นภาษาในสมัยนั้น
การศึกษาไทยนับแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕เป็นช่วงเริ่มต้นของการศึกษาสมัยใหม่ที่เป็นการนำภูมิปัญญาตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับภูมิปัญญาทางการศึกษาของโลกตะวันออกและได้มีการพัฒนาตังเองอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบันโดยสรุปถึงผลการศึกษาลักษณะการจัดการศึกษาในช่วงเวลาต่างๆที่จำแนกตามลักษณะของการปรากฏแนวคิดทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลาการให้บริการทางการศึกษาแก่ผู้เรียน ประชาชน ชุมชน และสังคมของหน่วยงานระดับเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยจัดการศึกษาในสังกัด ล้วนแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของคนและศักยภาพของชาติในที่สุด  การพัฒนาการศึกษายังคงเป็นประเด็นของเงื่อนไขอันหนึ่งที่รัฐบาลกำหนดไว้ว่าประเทศไทยต้องพัฒนาทักษะและศักยภาพของแรงงานด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพการปรับลดอัตรากำลังดังกล่าวเป็นปัญหาหนักสำหรับกระบวนการจัดการเรียนการการสอนโดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศเป็นนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการสร้างโอกาสทางการศึกษาการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาและการสร้างประสิทธิภาพทางการบริหารการศึกษา
คุณภาพทางการศึกษาของผู้เรียนขึ้นอยู่กับคุณภาพการเรียนการสอนของครูผู้สอนได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารการศึกษาผู้บริหารสถานศึกษาข้าราชการพลเรือนในสังกัดและศึกษานิเทศก์ ดำเนินการการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาด้วยทิศทางการจัดการศึกษาของไทยในอนาคตภายใต้การพัฒนาคุณภาพของเด็กด้วยคุณภาพของครูและคุณภาพการบริหารเป็นการจัดการศึกษาที่สามารถพัฒนาศักยภาพของคนให้ก้าวไปสู่การพัฒนาการเมืองการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ โดยมีวัฒนธรรมไทยเป็นพื้นฐานของศักยภาพของเด็กเหล่านั้น ทั้งนี้ เพื่อประกาศให้โลกได้รับรู้ว่า เด็กไทยมีความพร้อมที่จะนำประเทศให้ก้าวล่วงเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ด้วยความมองอาจและภาคภูมิใจในความเป็นไทย


การนำภูมิปัญญาไทยไปใช้ในการจัดการศึกษา
                การพัฒนาการเรียนรู้โดยภูมิปัญญาไทย เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยอาศัยทรัพยากรของชุมชน ได้แก่ ผู้ทรงภูมิปัญญาในชุมชน แหล่งเรียนรู้ในชุมชนนั้นๆ มาใช้เป็นแหล่งถ่ายทอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการผลิตซ้ำทางภูมิปัญญาแก่เด็กและเยาวชนในชุมชน
             กระบวนการสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาไทยจะดำเนินการไปบนพื้นฐานของหลักการศึกษาเรียนรู้ต่อไปนี้ การวิจัยและพัฒนา การฟื้นฟูและสืบสาร การอนุรักษ์และส่งเสริม สร้างความเป็นเลิศ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยจะกระทำไปทั้งในสามรูปแบบคือ การศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย
ตัวอย่างหลักสูตรท้องถิ่น เรื่องการทำขนมนางเล็ต โรงเรียนบ้านดงน้อย อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี


              บทวิเคราะห์
                การนำภูมิปัญญาไทยมาผนวกกับการศึกษาตลอดชีวิตและนำไปสู่การพัฒนาประเทศ “การศึกษาตลอดชีวิตเพื่อการพัฒนาสังคมไทย” ปรัชญาพื้นฐานของการศึกษาตลอดชีวิตก็เพื่อความเจริญเติบโตทางร่างกายการพัฒนาบุคลิกภาพ ความเจริญงอกงามทางด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมโดยเน้นให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต การนำภูมิปัญญาไทยกับการศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เสริมสร้างความสามารถ ฝีมือและทักษะในการพัฒนามนุษย์และนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจสังคมและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ความสามัคคี ดังนี้
๑. การพัฒนาทางเศรษฐกิจ
การเรียนรู้หรือการศึกษากับภูมิปัญญาไทยสามารถนำความรู้และทักษะไปประกอบอาชีพได้ทั้งเป็นอาชีพหลักอาชีพเสริมหรือนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาอาชีพที่ทำอยู่หรือนำความรู้ที่ได้มาสร้างอาชีพใหม่ที่ตอบสนองต่อระบบเศรษฐกิจของสังคมไทย เช่น การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยนำภูมิปัญญาไทยมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม
๒. การพัฒนาทางสังคม
การบ่มเพาะและการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนทุกวัยเกี่ยวกับสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาให้ตระหนักถึงภูมิปัญญาไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิมและอยู่ในชีวิตประจำวันอันได้แก่ วัฒนธรรมความรู้ ขนบธรรมเนียมประเพณี นำไปสู่การพัฒนาสังคมตามความต้องการของชุนและท้องถิ่นคงไว้ซึ่งรากฐานความเป็นวัฒนธรรมไทย
            ๓. การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภูมิปัญญาไทยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันระหว่างคนกับโลกสิ่งแวดล้อมสัตว์พืชและธรรมชาติ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งเหนือธรรมชาติตลอดทั้งสิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ทั้งหลายเมื่อประชาชนได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าต่อภูมิปัญญาไทยจะสร้างความรู้สึกหวงแหน นำไปสู่การอนุรักษ์ รักษาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัด
๔. การสร้างความมั่นคงและความสามัคคี
การศึกษาเรียนรู้แลกเปลี่ยนภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นรวมถึงการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้และศูนย์การเรียนรู้และระบบฐานข้อมูลภูมิปัญญาไทยในแต่ละท้องถิ่นเพื่อให้มีการเข้าถึงองค์ความรู้อย่างไร้ขอบเขตเป็นการส่งเสริมความรู้เข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรมลดความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มสร้างความเข้าใจ ความสามัคคีเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม

 บทสรุป

ภูมิปัญญาไทยเป็นสิ่งที่มีลักษณะของการสะสมเรียนรู้สืบสานสืบทอดและต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบันจากบรรพบุรุษสู่ชนรุ่นหลังกันมาอย่างยาวนานและมีความสัมพันธ์กันและสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และการพัฒนาประเทศจะไม่คำนึงถึงความรู้ทักษะ วิถีชีวิตของชุมชนเป็นไม่ได้การนำภูมิปัญญาไทยสู่การศึกษาตลอดชีวิตจะส่งผลให้คนใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติสุขช่วยสร้างสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งช่วยให้คนดำรงตนและปรับเปลี่ยนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบที่เกิดจากสังคมภายนอกตลอดทั้งช่วยส่งเสริมการพัฒนาอาชีพของประชาชนให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวสร้างความมั่นคงให้กับสังคมและประเทศชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น